
แม้จะยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะส่งผลโดยตรงกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไร แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง รับการฉีดวัคซีน ฯลฯ ยังคงจำเป็น เพราะความเปียกชื้นของสภาพอากาศจะทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่บนพื้นผิวได้นานกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีโรคประจำอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับความเปียกชื้นในฤดูฝนและน้ำท่วม ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยหรืออ่อนแอได้ง่าย หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือได้ดีเพียงพอ โดย ผศ. ดร. พญ.วิรงค์รอง เจียรกุล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรรายการโรงหมอ ทาง Thai PBS Podcast ได้แบ่งกลุ่มโรคดังนี้
● กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ : เกิดจากเชื้อโรคที่ติดต่อจากยุง เช่น ยุงลาย หรือยุงก้นปล่อง อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมักจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ หากมีอาการหนักอาจทำให้ช็อก หมดสติหรือเสียชีวิตได้ โรคที่เกิดขึ้นจากยุง เช่น โรคไข้เลือดออก, โรคไข้สมองอักเสบเจอี และโรคมาลาเรีย
● กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ : เกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอหรือจามของผู้ป่วยในบริเวณใกล้เคียงเข้าไป และการสัมผัสกับสิ่งของหรือน้ำมูกน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่, โรคหลอดลมอักเสบ, โรคปอดอักเสบ และอาการปอดบวม
● กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ : เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายไม่หยุด อาเจียน บางรายเป็นหนักถึงขั้นขาดน้ำและหมดสติได้ เช่น โรคท้องเดิน, โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน, โรคบิดโรคอาหารเป็นพิษ, โรคตับอักเสบ ฯลฯ
● กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง : เกิดจากการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น น้ำท่วมขัง น้ำเสียในท่อระบายน้ำ น้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลทั้งจากคนและสัตว์ การสัมผัสดิน สัมผัสอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น โรคแลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู), โรคตาแดง, โรคน้ำกัดเท้า, โรคผิวหนัง, เชื้อราบนผิวหนัง ฯลฯ
● โรคมือ เท้า ปาก : โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็ก ติดต่อง่าย ไม่มีวัคซีนป้องกัน และมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วยไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย 1 - 2 วัน เจ็บปาก ไม่ยอมรับประทานอาหาร น้ำลายไหลเพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขา
นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ การทำให้ร่างกายแข็งแรงและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด เช่น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ จัดหายาสามัญประจำบ้านและอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม ในกรณีฉุกเฉินให้โทร 1669 หรือไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน
ฟังรายการ โรงหมอ ทาง Thai PBS Podcast
คลิก >> Website | Spotify | SoundCloud | Apple Podcast | Google Podcast
หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast
สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่
เรียบเรียง : เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์